โครงการอบรมให้ความรู้รณรงค์และส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ขององค์การบริหารส่วนตำบลช่องด่าน อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี

22 ธันวาคม 2565
 ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง

1.หลักการและเหตุผล

ขยะมูลฝอย ขยะหรือของเสีย แบ่งเป็นมูลฝอยธรรมดาทั่วไป ได้แก่ มูลฝอยสด เศษอาหาร กระดาษ โฟม พลาสติก ขวด แก้ว โลหะ ฯลฯ และของเสียอันตราย ได้แก่ มูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาล กากจากสารเคมี สารเคมีกำจัดแมลง กากน้ำมัน หลอดไฟ แบตเตอรี่ใช้แล้ว แหล่งกำเนิดของเสียที่สำคัญ ได้แก่ ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่เกษตรกรรม ปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขยะ ทุกวันนี้คนไทยกว่า 60 ล้านคนสามารถสร้างขยะได้มากถึง 14 ล้านตันต่อปี แต่ความสามารถในการจัดเก็บขยะกลับมีไม่ถึง 70% ของขยะที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดปริมาณมูลฝอยตกค้างตามสถานที่ต่างๆ หรือมีการนำไปกำจัดโดยวิธีกองบนพื้น ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ

  1. อากาศเสีย เกิดจากการเผามูลฝอยกลางแจ้งทำให้เกิดควันและสารมลพิษทางอากาศ
  2. น้ำเสีย เกิดจากการกองมูลฝอยที่ตกค้างบนพื้นเมื่อฝนตกจะเกิดน้ำเสียซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้เกิดภาวะมลพิษทางน้ำ
  3. แหล่งพาหะนำโรค จากมูลฝอยตกค้างบนพื้นจะเป็นแหล่งเพาะพันธ์ของหนูและแมลงวัน ซึ่งเป็นพาหะนำโรคติดต่อทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
  4. เหตุรำคาญและความไม่น่าดู จากการเก็บขยะมูลฝอยไม่หมดทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน

และปัญหามลพิษจากของเสียอันตรายกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ได้แก่
ของเสียอันตรายจากบ้านเรือนเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว ได้แก่ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่รถยนต์ น้ำยาทำความสะอาด เครื่องสุขภัณฑ์ หลอดไฟ สารเคมีกำจัดแมลง  ของเสียอันตรายจากภาคเกษตรกรรม ได้แก่ ภาชนะบรรจุสารเคมี ประเภทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น 

การจัดการ “ของเสีย” ตามหลัก 3Rs หมายถึง การจัดการของเสียที่ให้ความสำคัญในการลดการเกิดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดเป็นลำดับแรก โดยมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาเมื่อเกิดของเสียแล้วต้องพยายามหาแนวทางการนํากลับไปใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยพิจารณาถึงศักยภาพการใช้ประโยชน์ของของเสียแต่ละประเภทและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เหลือของเสียที่จะต้องบําบัดหรือกําจัดในปริมาณน้อยที่สุด โดยเลือกใช้วิธีการกําจัดของเสียเป็นวิธีสุดท้าย

          ปริมาณขยะในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลช่องด่าน เกิดจากพฤติกรรมการใช้วัสดุ สิ่งของ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่มีการเลือกใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบอันอาจเกิดจากการใช้วัสดุ  เครื่องใช้สอยในครัวเรือนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะภูมิอากาศ หรือสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษจากภาวะน้ำเน่าเสียที่เกิดจากขยะมูลฝอย  ฉะนั้น การส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางในระดับครัวเรือน การให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ จะทำให้ประชาชนตระหนักและเข้าใจสภาพปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น  มีความสนใจและใส่ใจในการปฏิบัติงาน จำเป็นต้องมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในรูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยจะต้องพิจารณาเนื้อหาและสื่อที่จะใช้ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย  ตลอดจนช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งการส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะ นอกจากสามารถลดปริมาณขยะจากแหล่งกำเนิดลงได้แล้ว  ยังเป็นการสร้างรายได้จากการคัดแยกของเพื่อนำไปขายและการทำปุ๋ยหมักได้อีกด้วย  การรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชน ให้มีความรู้ในการคัดแยกขยะที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นกลวิธีอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะทำให้เกิดจิตใต้สำนึกในการคัดแยกขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม
จนสามารถเป็นตัวอย่างแก่คนในชุมชนได้  ซึ่งหากทุกองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยร่วมกับหน่วยงานของรัฐ โดยหาแนวทางแก้ไข กลวิธีที่จะใช้เพื่อให้เกิดผลเป็นที่น่าพอใจก็จะทำให้ประสบผลสำเร็จและการดำเนินงานโดยอาศัยโครงสร้างที่มีอยู่เดิมในชุมชนทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

         ดังนั้น สำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลช่องด่าน งานอนามัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ
ดูแลด้านการส่งเสริมและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้ถูกหลักสุขาภิบาลและเอื้อต่อการมีสุขภาพดี
ของประชาชน  ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก  จึงได้จัดให้มีโครงการอบรมให้ความรู้รณรงค์และส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง “ภายใต้กิจกรรมบริหารจัดการขยะ ด้วยหลัก 3 Rs การติดตามการคัดแยกขยะ/การสาธิตการจัดทำถังขยะเปียกในครัวเรือน”
ในยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านสาธารณสุข  เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับประชาชน ถึงแนวทางในการลดปริมาณขยะ การคัดแยกขยะ และใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอย เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายจากชุมชนตั้งแต่ต้นทาง และเพื่อสร้างต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน 

 

2.วัตถุประสงค์

          2.1 ลดปัญหามลพิษจากขยะ

          2.2 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการขยะโดยชุมชน

2.3 เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนรักษาความสะอาดและรู้จักวิธีคัดแยกและกำจัดขยะที่ถูกต้อง

2.4 ตัวแทนครัวเรือนมีความรู้เกี่ยวกับขยะประเภทต่างๆ ตลอดจนทราบถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากขยะ

2.5 ตัวแทนครัวเรือนมีความรู้เกี่ยวกับการลดปริมาณขยะ วิธีการคัดแยก และการนำกลับมาใช้ใหม่

ในชุมชน

         2.6. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครัวเรือนและชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. เป้าหมาย/ผลลัพธ์

          ผู้นำหมู่บ้าน สมาชิกสภา อบต. คณะกรรมการหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ศูนย์เด็กและตัวแทนประชาชนพื้นที่ตำบลช่องด่าน รวมจำนวน 60 คนกลุ่มเป้า   หมายมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายจากชุมชนตั้งแต่ต้นทาง

 

 

ข้อมูลไฟล์ที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!